กรีฑา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาวกรีกเป็นผู้ริเริ่มการแข่งขันกรีฑาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อราว 700 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยทำการแข่งขัน ณ ลาน เชิงเขาโอลิมเปีย ในแคว้นอีลิส ประเทศกรีซ เมื่อกรีกเสื่อมอำนาจลงโรมันได้เข้ามาปกครองกรีกและห้ามชาวกรีกแข่งขันกีฬาทำให้การแข่งขันกรีฑาต้องล้มเลิกไปด้วย ต่อมาใน พ.ศ. 2439 นักกีฬาชาวฝรั่งเศส ชื่อ บารอน ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แตง ได้ริเริ่มการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกขึ้นใหม่หลังจากล้มเลิกไปเป็นเวลานานถึง 1,500 ปีเศษ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกขึ้นครั้งนี้ได้จัดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และกรีฑาเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ไดั้รับการบรรจุเข้าในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย จากนั้นจึงมีพัฒนาการมาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
[แก้] ในประเทศไทย
การเล่นกรีฑาในประเทศไทย ริเริ่มโดยครูชาวอังกฤษนำมาสอนให้นักเรียนไทย ได้ฝึกเล่นในโรงเรียนพระตำหนักวังสวนกุหลาบ ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วค่อยเจริญแพร่หลายขึ้น เมื่อ กระทรวงธรรมการเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับการพลศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา
กรีฑาในประเทศไทยเริ่มจัดให้มีการแข่งขันครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2440 ที่บริเวณ ท้องสนามหลวง เป็นงานมหกรรมต้อนรับการเสด็จนิวัติพระนคร คณะกรรมการได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน และทอดพระเนตรการแข่งขัน นับตั้งแต่นั้นมากระทรวงธรรมการ ได้พยายามจัดให้มีการแข่งขันกรีฑาเป็นประจำปีตลอดมา
ใน พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ตั้งกรมพลศึกษาขึ้น มีนโยบายส่งเสริมการกีฬาและการกรีฑาของชาติให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น สนับสนุนให้มีการแข่งขันหลายประเภท เช่น การแข่งขันระหว่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย และระหว่างประชาชนควบคู่กันไปภายใต้การดำเนินงานของกรมพลศึกษา
สมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2494 โดยมีพระยาจินดารักษ์ เป็น นายกสมาคมคนแรก และในปีเดียวกันก็ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF)
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปัจจุบัน การแข่งขันกรีฑาถือเป็นกีฬาหลักที่จะต้องบรรจุเข้าอยู่ในการแข่งขันรายการสำคัญๆ ทุกครั้ง และนักกรีฑาของไทยหลายคน ได้สร้างขื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการแข่งขันระหว่างชาติหลายครั้งแล้ว