กล้องโทรทรรศน์กระจกเหลว
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กล้องโทรทรรศน์กระจกเหลว เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ที่มีกระจกปฐมภูมิเป็นแอ่งของเหลวสะท้อนแสง หมุนตลอดเวลา โดยปกติจะใช้ปรอท
ไอแซก นิวตันนับเป็นบุคคลแรกที่รู้ว่าของเหลวที่หมุนรอบตัว จะก่อให้เกิดรูปพาราโบลาร์แบบวงกลม และด้วยเหตุนี้ จึงสามารถนำมาใช้สร้างกล้องโทรทรรศน์ได้ แต่เขาไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้จริงๆ เพราะไม่ทราบวิธีการควบคุมความเร็วการหมุนให้คงที่ได้ (ในสมัยนั้นยังไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้า)
ข้อดีที่สำคัญของการใช้กระจกเหลวก็คือ ต้นทุนที่ประหยัด กล้องโทรทรรศน์แบบกระจกเหลวขนาด 6 เมตร ของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ใช้ต้นทุนการผลิตเพียง 1/5 ของกล้องโทรทรรศน์แบบเดิมที่ใช้กระจกเงาซึ่งทำมาจากแก้ว [1]
เนื่องจากรูปร่างของของเหลวนั้นจะขึ้นอยู่กับความถ่วง กล้องโทรทรรศน์แบบนี้จึงต้องมีการวางในตำแหน่งที่ตั้งตรง ทำให้กล้องโทรทรรศน์ต้องชี้ขึ้นไปยังจุดเหนือศีรษะเสมอ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากแต่อย่างใด เพราะวัตถุในท้องฟ้าย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามฤดูกาล และช่วงเวลาของวัน