วัดคุ้งตะเภา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดคุ้งตะเภา | |
---|---|
วัดราษฎร์ | |
ที่ตั้ง | ถนนเอเชีย ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000 |
ความสำคัญ | วัดประจำตำบลคุ้งตะเภา |
นิกาย | มหานิกาย |
วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณในเขตการปกครองของคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มสร้างมาแต่สมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษามาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีเพียงหลักฐานสืบค้นได้เพียงว่ามีพระสงฆ์มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มีอายุสองร้อยกว่าปีเศษ วัดสร้างติดอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก เดิมชื่อ “วัดคุ้งสำเภา” (หรือโค้งสำเภา) เนื่องจากด้วยในสมัยก่อนมีเรือสำเภาแล่นขึ้นและล่องทำการค้าขายเป็นประจำ มีอยู่ปีหนึ่ง น้ำขึ้นมากจึงมีเรือสำเภาลำหนึ่งได้แล่นมาถึงหน้าวัดและได้เกิดอัปปางลง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดคุ้งสำเภา ตำบลท่าเสา อำเภอบางโพ แขวงเมืองพิชัย
สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีมีศาลาการเปรียญอยู่ริมแม่น้ำหลังหนึ่ง ชาวบ้านได้อาศัยวัดเป็นที่ทำการศึกษาเล่าเรียนโดยมีพระเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ต่อมาได้มีครูเป็นฆราวาสทำการสอนแทน จนต่อมาภายหลังแม่น้ำน่านได้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ในฤดูน้ำหลาก จึงทำให้น้ำ กัดเซาะตลิ่งวัดจนถึงตัวศาลาการเปรียญ ชาวบ้านจึงได้ปรึกษากัน ทำการย้ายศาลาการเปรียญหลังเก่ามาสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2472 ภายหลังแม่น้ำเปลี่ยนทิศทางเดินออกไปไกลจากวัดมาก ขณะเดียวกัน ก็มีเกาะเกิดขึ้นหน้าวัด ต่อมามีการสำรวจชื่อหมู่บ้านและวัดเพื่อขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่คนที่ไปแจ้งและรับแจ้งเขียนผิด ชื่อหมู่บ้านจาก "บ้านคุ้งสำเภา" จึงกลายมาเป็นบ้านคุ้งตะเภาและ "วัดคุ้งตะเภา" และชื่อ "ตำบลคุ้งตะเภา" จนมาถึงปัจจุบันนี้
สารบัญ |
[แก้] หลวงพ่อสุวรรณเภตรา
"พระพุทธสุวรรณเภตรา มหาบรมไตรโลกเชษฐ์ วรเสฏฐมุนี โอฆวิมุตตินฤบดี ศรีบรมไตรโลกนารถ โลกธาตุดิลก ฯ"
"หลวงพ่อสุวรรณเภตรา" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปางพิชิตมาร มีพุทธลักษณะสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ใจกลางอุโบสถวัดคุ้งตะเภา ได้หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 โดยพระครูธรรมกิจจาภิบาล ( หลวงพ่อกลม ) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่ท่าเสาอยู่ในขณะนั้น ( ท่านเป็นคนคุ้งตะเภาโดยกำเนิด ) ได้ปรารภให้จัดสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภาที่ได้สร้างขึ้นใหม่ จึงได้ทำพิธีเททองหล่อขึ้น ณ วัดใหญ่ท่าเสา โดยมีพระเกจิอาจารย์ที่เป็นที่นับถือเลื่อมใสในขณะนั้นนั่งปรกอธิษฐาน ในการหล่อครั้งนั้นมีประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธานำโลหะมีค่าต่าง ๆ เช่นทองคำ เงิน ฯลฯ มาร่วมถวายหล่อเป็นพุทธบูชาเป็นจำนวนมาก และเมื่อหล่อเสร็จ ก็ปรากฏว่าทองคำได้แล่นลงที่เศียรพระมากอย่างน่าอัศจรรย์ จึงปรากฏองค์พระพุทธรูปซึ่งกรอปไปด้วยพุทธสิริศุภลักษณะมีพระพักตร์อิ่มเอิบสุกปลั่งประดุจดั่งทองคำ (ซึ่งเมื่อผู้ใดมองไปที่พระพักตร์ขององค์ท่านก็จะทราบด้วยตนเองว่า พระพุทธรูปองค์นี้ "ยิ้มได้" อย่างน่าอัศจรรย์ ) มีเรื่องเล่าที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่ากันสืบมาด้วยความศรัทธาว่า ในวันที่ทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อมาทางน้ำเพื่อมาประดิษฐานที่อุโบสถวัดคุ้งตะเภา ปรากฏว่าวันนั้นมีพายุฝนรุนแรงมาก แต่เมื่ออัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นฝั่งก็ปรากฏว่าฝนที่กำลังตกหนักอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตกกลับพลันหยุดตกทันที และเมฆฝนที่ปกคลุมอาณาบริเวณมณฑลพิธีกลับพลันสลาย และแดดกลับออกจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ใจแก่ผู้ร่วมพิธีในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง
หลวงพ่อสุวรรณเภตรา หรือที่แปลว่า หลวงพ่อสำเภาทอง เป็นพระนามที่ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ขนานถึงด้วยความเลื่อมใสศรัทธานับถือมาช้านาน ประวัติความเป็นมาอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้และวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นเนื่องด้วยองค์ท่าน เป็นที่นับถือเลื่องลือมาช้านาน เห็นได้จากการกล่าวขานเลื่องลือถึงฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์แคล้วคลาดด้วยบารมีแห่งผู้ที่เคารพบูชาวัตถุมงคล เนื่องด้วยองค์ท่านอยู่เนือง ๆ และการที่มีผู้มาบนบานและแก้บนองค์หลวงพ่ออยู่เป็นประจำมิว่างเว้น
[แก้] กิจกรรมหลักของวัด
วัดคุ้งตะเภาเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมของชุมชน ประกอบพิธีทางศาสนา อนุรักษ์ประเพณีของท้องถิ่น เป็น สำนักเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาประจำตำบลคุ้งตะเภา และมีการจัดงานบรรพชาอุปสมบทหมู่พระภิกษุสามเณรภาคฤดูร้อน และบวชศีลจาริณีเป็นประจำทุกปี รวมทั้งเป็นศูนย์ศึกษา สมุนไพรประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ( ตามโครงการของทางคณะสงฆ์ ) ซึ่งมีสมุนไพรหายากหลากชนิดกว่า 300 ชนิด
[แก้] โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน วัดคุ้งตะเภา
วัดคุ้งตะเภาได้จัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนติดต่อกันมาทุกปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ( ซึ่งนับเป็นวัด แรก ๆ ในไม่กี่วัด ในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ได้จัดให้มีโครงการนี้ขึ้น ) ซึ่งทางวัดจะมีการจัดการอบรมศาสนศึกษาระยะสั้นให้แก่กุลบุตรกุลธิดาตลอดระยะเวลาการบรรพชา 30 วันรวมทั้งมีการจัดให้มีการนำคณะสามเณรศีลจาริณีไปทัศนศึกษาตามสถานที่ ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดโครงการยังมีการจัดธุดงค์วัตร นำคณะสามเณรผู้สนใจไปธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ลับแล แพร่ เพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์ ฝึกความอดทนและความมีน้ำใจให้แก่เยาวชนอีกด้วย ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ใด ๆ ทุนปัจจัยทั้งหมดอาศัยแรงศรัทธาความสามัคคีร่วมใจของชาวบ้านคุ้งตะเภาและใกล้เคียงที่เล็งเห็นถึงผลของการพัฒนาลูกหลานเยาวชนให้กลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพต่อไป
ภาพคณะสามเณรภาคฤดูร้อนวัดคุ้งตะเภาทัศนศึกษาพุทธมณฑล เมษายน พ.ศ. 2549 |
ภาพคณะศีลจาริณีทัศนศึกษาเขื่อนสิริกิติ์์ พ.ศ. 2549 |
[แก้] ศูนย์ศึกษาสมุนไพรประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
วัดคุ้งตะเภาได้รับความเห็นชอบจากทางคณะสงฆ์ให้เป็น ศูนย์ศึกษาสมุนไพรประจำจังหวัด เนื่องจากวัดคุ้งตะเภามี พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรแผนโบราณ ได้เป็นผู้รวบรวมสมุนไพรหายาก จากสถานที่ต่าง ๆ มารวมไว้ในวัด (ในปัจจุบันในวัดมีต้นยาสมุนไพรทั้งสิ้นกว่า 300 ชนิด) เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจและเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านการอนุรักษ์สมุนไพร อีกทั้ง วัดยังได้เก็บรวบรวมสมุดไทยและผูกใบลานจารึกตำรายา, ตำราพระเวท, และบทกฎหมายพระอัยการโบราณ อายุกว่าร้อยปี รวมมากกว่าร้อยผูก / เล่ม ซึ่งนับว่าเป็นโบราณวัตถุมรดกสำคัญอันล้ำค่ายิ่ง เป็นวัตถุพยานที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่แห่งภูมิปัญญาและความเป็นมาแห่งบ้านคุ้งตะเภาได้เป็นอย่างดี
[แก้] ศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน
เป็นที่ตั้งอาคารธนาคารหมู่บ้านคุ้งตะเภา
เป็นที่ตั้งสำนักงานสมาพันธ์สหกรณ์การเกษตรเพื่อการพัฒนา
เป็นที่ตั้งร้านค้าชุมชนหมู่บ้านคุ้งตะเภา
เป็นที่ตั้งศูนย์สาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชนหมู่บ้านคุ้งตะเภา
เป็นศูนย์ศึกษาการทำสมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่น
เป็นศูนย์กระจายเสียงเพื่อการเผยแพร่ธรรมะ และข่าวสารของชุมชน
[แก้] ภูมิปัญญาหมู่บ้านคุ้งตะเภา
“หมู่บ้านคุ้งตะเภา” เป็นหมู่บ้านที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับได้ 250 กว่าปีผ่านมาแล้ว ล่วงเลยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย กรุงธนบุรี จวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากหมู่บ้านเล็ก ๆ ท่ามกลางแมกไม้สัตว์ป่าอันอุดม กลายมาเป็นตำบลใหญ่ที่มีประชากรนับพัน ๆ คนในปัจจุบัน ศิลปะและวัฒนธรรมในปัจจุบันย่อมพัฒนามาจาก อดีต ตามการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนไปกับกาลเวลา และ ปัจจุบัน ย่อมส่งผลต่อเนื่องถึง อนาคต อดีต ปัจจุบัน และอนาคตจึงแนบเนื่องเกี่ยวพันกันดั่งกระแสน้ำในลำธาร มิอาจตัดขาดกันได้ และวิถีวัฒนธรรมในแต่ละสังคมย่อมพัฒนาแตกต่างกันออกไปตามพื้นฐานความเป็นมาของสังคมนั้น ๆ
ด้วยอดีตอันยาวนาน จากสังคมชนบทที่เอื้อเฟื้อ อยู่กันสนิทประดุจญาติ มีการเกื้อกูลช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน เป็นที่แน่นอนว่าด้วยสภาพสังคมเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดศิลปะประเพณีการละเล่นต่าง ๆ เพื่อเป็นการช่วยผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าจากการงานในช่วงของวันและเพื่อสร้างความความเพลิดเพลินในงานบุญต่าง ๆ ศิลปะการแสดงที่เกิดขึ้นตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่มีตั้งแต่ การรำกะลา การร้องเพลงเกี่ยวข้าว ขับขานเพลงฉ่อยโต้ไปมาระหว่างหนุ่มสาว ตามวิสัย จนไปถึงกระทั่งงานบุญใหญ่อันเป็นที่รวมแห่งคนในหมู่บ้านที่จัดให้มีการแสดงร้องรำละเล่นต่าง ๆ จนเกิดเป็นการละเล่นที่กลายมาเป็นประเพณีและวัฒนธรรมของหมู่บ้านในที่สุด แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปิดรับวัฒนธรรมจากภายนอกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กรอปกับทั้งกระแสแห่งทุนนิยมและวัตถุ ได้หลั่งไหลทะลักเข้าสู่สังคมไทย จนกระทั่งแม้หมู่บ้านคุ้งตะเภาของเราเอง ทำให้คนรุ่นหลัง ละเลยไม่ใส่ใจ และพากันละทิ้งประเพณีการละเล่นศิลปะการแสดง ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหมู่บ้านจนหามีผู้สืบทอดมิได้ในปัจจุบัน เหลือทิ้งไว้แต่เพียงคำบอกเล่า ถึงอัตตลักษณ์อันรุ่งโรจน์ของ “คน” หมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีตไว้ให้เพียงระลึกถึง และรอวันสูญหายไปกับธารแห่งเวลาและกระแสโลกตะวันตกและวัตถุนิยมที่ “ขาด” ความพอดีในชีวิตไปตลอดกาล
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหลืออยู่และเป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงความรุ่งโรจน์ทางภูมิปัญญาในอดีตของคนคุ้งตะเภานั่นก็คือศิลปะการรักษาโรคด้วยสมุนไพรที่ยังมีผู้สืบทอดอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงศิลปะใน วัตถุโบราณเอกสารใบลาน สมุดข่อยอันคร่ำคร่า นับร้อยผูก/เล่ม ที่คนรุ่นก่อนได้บันทึกและจดจารไว้เพื่อเป็นการสืบทอดและรักษาให้ภูมิปัญญาศิลปะในการรักษาโรคอันทรงค่ายิ่งนี้ให้คงอยู่
ภูมิปัญญา สิ่งเหล่านี้ บรรพชนได้สั่งสมองค์ความรู้ที่เรียนจากประสบการณ์ชีวิตของผู้คน โดยการสังเกต วิเคราะห์ สังเคราะห์ ลองผิดลองถูก และปฏิบัติการอย่างมีเหตุผล ทำให้เกิดภูมิปัญญา สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านจำนวนไม่น้อยได้สูญหายไปตามกาลเวลาและความผันแปรทางการเมืองของชาติและขาดการสืบทอด แต่ส่วนที่ยังเหลืออยู่นี้จำนวนไม่น้อยเลยที่ยังเก็บความรู้ชั้นสูงที่คนปัจจุบันก็ยังหาคำตอบไม่ได้เอาไว้ ภูมิปัญญาเหล่านี้ก็ยังคงเป็นมรดกไทย เป็นภูมิปัญญาของชาติที่พร้อมจะสูญหาย ถ้าพวกเราไม่รีบอนุรักษ์สืบทอดกันไว้ให้อนุชนรุ่นหลังต่อไป ฯ
[แก้] ลำดับเจ้าอาวาสและพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา
ปีที่ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.)
|
รายนามเจ้าอาวาส
|
ตำแหน่ง
|
|
พ.ศ. ไม่ทราบ
|
หลวงพ่อตี๋ ไม่ทราบฉายา
|
เจ้าอาวาส
|
|
พ.ศ. ไม่ทราบ
|
หลวงพ่อเจิม ไม่ทราบฉายา
|
เจ้าอาวาส
|
|
พ.ศ. ไม่ทราบ
|
หลวงพ่อเพิ่ม ไม่ทราบฉายา
|
เจ้าอาวาส
|
|
พ.ศ. ไม่ทราบ
|
หลวงพ่อกลอง ไม่ทราบฉายา
|
เจ้าอาวาส
|
|
พ.ศ. ไม่ทราบ
|
พระสมุห์ปลาย ไม่ทราบฉายา
|
เจ้าอาวาส
|
|
พ.ศ. ไม่ทราบ
|
พระปลัดป่วน ไม่ทราบฉายา
|
เจ้าอาวาส
|
|
หลวงพ่อสังวาล ไม่ทราบฉายา
|
เจ้าอาวาส
|
||
พระอธิการท้วน โฆสโก
|
เจ้าอาวาส
|
||
พระอธิการเมี้ยน ไม่ทราบฉายา
|
เจ้าอาวาส
|
||
พระอธิการผลิต ไม่ทราบฉายา
|
เจ้าอาวาส
|
||
พระสมพงษ์ สมจิตฺโต
|
รักษาการเจ้าอาวาส
|
||
พ.ศ. 2533 - ปัจจุบัน
|
พระอธิการธง ฐิติธมฺโม
|
เจ้าอาวาส
|
หมายเหตุ: พระที่รักษาวัดก่อนหน้านั้นไม่อาจทราบชื่อได้
พระสังฆาธิการ
พระอธิการธง ฐิติธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. 2533 - ปัจจุบัน
พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เป็นรองเจ้าอาวาส พ.ศ. 2537 - ปัจจุบัน
ปัจจุบันมีพระภิกษุจำนวน 8 รูป สามเณร 1 รูป รวม 9 รูป
[แก้] ข้อมูลจำเพาะ
วัดคุ้งตะเภา อยู่ระหว่าง เส้นรุ้งที่ 17 องศา 37 ลิปดา และ 19 องศา 30 ลิปดาเหนือ กับเส้นแวงที่ 100 องศา 05 ลิปดา และ 101 องศา 11 ลิปดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเล 63 เมตร
เนื้อที่ตั้งวัด 14 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์ 1 แปลง เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา ( ที่ธรณีสงฆ์ใช้ประโยชน์ในการตั้งเมรุ ศาลาธรรมสังเวช ร้านค้าชุมชน ธนาคารหมู่บ้าน ฯลฯ ) ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2313 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ ปี พ.ศ. 2490 เนื้อที่กว้าง 10 เมตร ยาว 29 เมตร
[แก้] การติดต่อวัด
โทร. 0-5544-8063
[แก้] การเดินทาง
รถยนต์ มี 4 เส้นทาง ดังนี้
ถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ วัดอยู่ด้านซ้ายมือก่อนถึงสะพานข้ามแม่น้ำน่าน
ก่อนถึงจังหวัดพิษณุโลก แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 11
- จากกำแพงเพชร ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านสุโขทัย ถึงอำเภอศรีสัชนาลัย แยกขวาใช้ทางหลวง
หมายเลข 102 ถึงจังหวัดอุตรดิตถ์
- จากกรุงเทพฯ มาตามทางหลวงหมายเลข 1 แยกขวาตรงอำเภออินทร์บุรี เข้าทางหลวงหมายเลข 11 ถึงจังหวัดอุตรดิตถ์