ไม้ยมก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อักษรไทย | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ๆ |
|||||||
รูปพยัญชนะ | |||||||
ก | ข | ฃ | ค | ฅ | ฆ | ง | จ |
ฉ | ช | ซ | ฌ | ญ | ฎ | ฏ | ฐ |
ฑ | ฒ | ณ | ด | ต | ถ | ท | ธ |
น | บ | ป | ผ | ฝ | พ | ฟ | ภ |
ม | ย | ร | ล | ว | ศ | ษ | ส |
ห | ฬ | อ | ฮ | ||||
รูปสระ | |||||||
ะ | -ั | า | -ํ | -ิ | ' | " | |
-ุ | -ู | เ | โ | ใ | ไ | -็ | |
อ | ว | ย | ฤ | ฤๅ | ฦ | ฦๅ | |
รูปวรรณยุกต์ | |||||||
-่ | -้ | -๊ | -๋ | ||||
เครื่องหมายอื่น ๆ | |||||||
-์ | -๎ | -ฺ | |||||
เครื่องหมายวรรคตอน | |||||||
ฯ | ฯลฯ | ๆ | ๏ | ฯ | ๚ | ๛ |
ไม้ยมก เป็นเครื่องหมายวรรคตอน ที่ใช้ในการเขียนภาษาไทยมาช้านาน มีรูปดังนี้ "ๆ" ซึ่งคล้ายเลขสองไทย (๒) และเดิมนั้น ไม้ยมกกับเลขสองไทย ก็เขียนอย่างเดียวกัน โดยใช้กำกับหลังคำ ที่ต้องการอ่านซ้ำ เช่น "มากๆ" อ่านว่า "มากมาก"
สารบัญ |
[แก้] การใช้ไม้ยมก
วิธีใช้ไม้ยมก เมื่อประมวลจากการใช้ พอจะสรุปได้ดังนี้
- ซ้ำคำ
- "นี่ไม่ใช่งานง่ายๆ" อ่านว่า "นี่ไม่ใช่งานง่ายง่าย"
- "รู้สึกเหนื่อยๆ" อ่านว่า "รู้สึกเหนื่อยเหนื่อย"
- ซ้ำวลี
- "เขาตะโกนขึ้นว่าไฟไหม้ๆ" อ่านว่า "เขาตะโกนขึ้นว่าไฟไหม้ไฟไหม้"
- "ในแต่ละวันๆ" อ่านว่า "ในแต่ละวันแต่ละวัน"
[แก้] กรณีที่ "ไม่" ใช้ไม้ยมก
- เสียงซ้ำ แต่เป็นคำคนละชนิด
- "ซื้อมา 2 ผลๆ ละ 5 บาท" ควรเขียนว่า "ซื้อมา 2 ผล ผลละ 5 บาท" (สมัยโบราณนิยมเขียนแบบประโยคแรก)
- "นายดำๆ นา" ควรเขียนว่า "นายดำดำนา" คำว่า ดำ ข้างหน้าคือชื่อคำนาม ดำข้างหลัง คือกริยา
- "คนๆ นี้" ควรเขียนว่า "คนคนนี้"
- คำที่รูปเดิมเขียนซ้ำพยางค์ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คำ ดังนี้
- นานา เช่น นานาชนิด, ต่างๆ นานา
- จะจะ เช่น เห็นจะจะ, เขียนจะจะ
- ในคำประพันธ์ หรือบทร้อยกรอง เช่น
- หวั่นหวั่นจิตรคิดคิดหวนครวญครวญหา (ไม่ควรเขียน "หวั่นๆจิตรคิดๆหวนครวญๆหา"
- ยกเว้น กลบทบางประเภทที่กำหนดให้ใช้ไม้ยมก
[แก้] การเขียนไม้ยมก
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หรือ "หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่นๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" มีการพิมพ์ต่างๆ กัน ดังนี้
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
- เว้นหน้าไม้ยมก และเว้นหลังไม้ยมก เช่น สิ่งที่เป็นเส้น ๆ หุ้มยวงขนุน, ติด ๆ กัน
- หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนฯ
- ไม้ยมกชิดคำที่อยู่ข้างหน้า แต่เว้นข้างหลัง เช่น "หน่วยราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุม"
- แต่ ภายในเล่ม ได้เขียนหลักเกณฑ์การเว้นวรรคเอาไว้ว่า "ให้เว้นทั้งข้างหน้าและข้างหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมกหรือยมก เสมอภาคหรือเท่ากับ" ซึ่งขัดแย้งกับการพิมพ์เนื้อหาทั้งหมด รวมทั้งชื่อหนังสือเอง ซึ่งชิดหน้า เว้นหลัง ("เครื่องหมายอื่นๆ")
- สำนักพิมพ์ต่างๆ ยังพิมพ์ไม้ยมกในลักษณะต่างๆ กัน ดังนี้
- ไม่เว้นเลย เช่น "ต่างๆกัน"
- เว้นทั้งหน้าและหลังไม้ยมก เช่น "ต่าง ๆ กัน"
- เขียนไม้ยมกติดคำหน้า แต่เว้นด้านหลัง เช่น "ต่างๆ กัน"
หมายเหตุ, ไม้ยมกไม่ใช่อักษร แต่มักจะจัดรวมไว้ในหมวดหมู่อักษรไทย เพื่อความสะดวกในการดูภาพรวมของอักษรและเครื่องหมายที่ใช้ในการเขียนหนังสือไทย
[แก้] อ้างอิง
- หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่นๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ. ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2533
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, พ.ศ. 2542
[แก้] ดูเพิ่ม
- เครื่องหมายโดโนะจิเท็น(々) ในภาษาญี่ปุ่น ใช้สำหรับคำที่มีการอ่านซ้ำสองครั้ง