มหาสมุทร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาสมุทร เป็นผืนน้ำทะเลขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน และครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ใน 4 (71%) ของพื้นผิวโลก แบ่งออกเป็น 5 มหาสมุทรโดยใช้ทวีปและกลุ่มเกาะขนาดใหญ่เป็นแนวแบ่ง ดังนี้
- มหาสมุทรอาร์กติก
- มหาสมุทรแอตแลนติก
- มหาสมุทรอินเดีย
- มหาสมุทรแปซิฟิก
- มหาสมุทรใต้ — ในบางภูมิภาคและบางวัฒนธรรม รวมทั้งอเมริกาเหนือและทวีปยุโรปส่วนใหญ่ มหาสมุทรใต้ไม่ถือเป็นมหาสมุทร แต่เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของ 3 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก
มหาสมุทรทั่วโลกมีพื้นที่รวม 361 ล้านตารางกิโลเมตร ปริมาตร 1,370 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 3,790 เมตร ไม่นับรวมทะเลที่ไม่เชื่อมต่อกับมหาสมุทร อาทิ ทะเลแคสเปียน
มวลรวมของส่วนอุทกภาคมีค่าประมาณ 1.4×1021 กิโลกรัม คิดเป็น 0.023 % ของมวลโลก
องค์การอุทกศาสตร์สากล (International Hydrographic Organization) เป็นผู้กำหนดเส้นแบ่งเขตระหว่างแต่ละมหาสมุทร ยกตัวอย่างเช่น มหาสมุทรใต้เริ่มจากชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกาไปถึงละติจูด 60 องศาใต้ พื้นที่ที่มีขนาดเล็กกว่ามหาสมุทร เรียกว่า ทะเล อ่าว ช่องแคบ ฯลฯ
สารบัญ |
[แก้] ไหล่ทวีป
ไหล่ทวีป เป็นส่วนที่ตื้นที่สุดและอยู่ติดกับส่วนที่เป็นทวีป บางทีถือว่าเป็นส่วนของทวีป พื้นของไหล่ทวีปบางตอนจะเรียบ บางตอนมีร่องยาว บางตอนมีสันเนิน บางตอนมีแอ่งกลม บางตอนมีเนินเขา บางส่วนเป็นหิน บางส่วนปกคลุมด้วยโคลน ทราย หรือกรวด
ไหล่ทวีป เป็นส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลง อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบกรรมวิธีปรับระดับ หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวแปรรูปของเปลือกโลก ไหล่ทวีปจะมีระดับสูงขึ้นและมีขนาดกว้างออกไป เพราะมีวัตถุต่าง ๆ จากพื้นดินมาทับถมอยู่ ตัวกระทำที่นำเอาวัตถุเหล่านั้นมาคือ แม่น้ำ ลมและสิ่งที่หลุดร่วงจากฝั่งจากการกระทำของทะเลมหาสมุทรเอง ถ้าชายฝั่งจมตัวลงน้ำทะเลจะไหลท่วมขึ้นไปถึงส่วนที่ป็นที่ราบชายฝั่ง ไหล่ทวีปจะเปลี่ยนแปลงไป ถ้าชายฝั่งยกตัวสูงขึ้นไหล่ทวีปอาจกลายเป็นที่ราบชายฝั่งไป
[แก้] ลาดทวีป
ลาดทวีปอยู่ถัดจากไหล่ทวีป มีความลาดชันมาก 65 กิโลเมตรต่อระยะทาง 1 กิโลเมตรทอดไปถึงระดับน้ำลึกประมาณ 3,600 เมตร ลาดทวีปในที่ต่างๆ มีความกว้างแตกต่างกันไป โดยเฉลี่ยจะกว้างเป็น 2 เท่าของไหล่ทวีป ขอบนอกสุดของลาดทวีปจะติดต่อกับพื้นท้องมหาสมุทรเป็นแนวที่เห็นได้ชัดเจน เพราะเป็นตอนที่มีการเปลี่ยนระดับ ลาดทวีปนี้เป็นส่วนขอบของเปลือกโลกที่เรียกว่าไซอัล
ที่ลาดทวีปและที่ขอบๆ ของไหล่ทวีปบางตอนมีหุบเขาลึกอยู่ระหว่าง หุบผาชันใต้ทะเล หุบผาชันใต้ทะเลบางแห่งมีสาขาอยู่ด้วย ก้นหุบผาชันใต้ทะเลส่วนใหญ่มีความลึก 1,800-2,000 เมตร ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล สาเหตุของการเกิดหุบผาชันใต้ทะเลนี้ยังไม่ทราบแน่นอน มีการสันนิษฐานกันหลายอย่าง บ้างว่าเนื่องจากการเปลี่ยนระดับของหิน บ้างว่าเพราะคลื่นขนาดใหญ่ทำให้เกิดกระแสน้ำซึ่งไหลแรง ทำให้ส่วนนั้นสึกกร่อนไป บ้างว่าน้ำใต้ดินบริเวณนั้นลดน้อยลงทำให้เกิดการยุบตัว
[แก้] พื้นท้องมหาสมุทร
พื้นท้องมหาสมุทร คือช่วงตอนกลางของมหาสมุทร ช่วงนี้ไม่ได้ราบเรียบแต่มีส่วนสูงส่วนต่ำด้วย ได้แก่สันเขา ซึ่งแคบบ้าง กว้างบ้าง ที่ราบสูง แอ่งรูปกลม แอ่งรูปยาว ภูเขา เช่น สันเขามิดแอตแลนติก ซึ่งทอดจากไอซ์แลนด์ลงมาเกือบถึงทวีปแอนตาร์กติค บางตอนสูงขึ้นมาเหนือน้ำเป็นเกาะ เช่น หมู่เกาะอะซอร์ส และเกาะเล็ก ๆ อื่น ๆ ส่วนใหญ่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเลคือหมู่เกาะฮาวาย สันเขาแห่งนี้ยาวประมาณ 720 กิโลเมตร อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน ทะเลแดง เป็นตัวอย่างของแอ่งลึกบนพื้นท้องมหาสมุทร
[แก้] ภูเขาใต้ทะเล
ภูเขาใต้ทะเล พบที่พื้นท้องมหาสมุทร ภูเขาใต้ทะเลบางลูกมียอดตัด เรียกว่า กีย์โอต์พบมากที่ตอนกลางและที่ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิคระหว่างหมู่เกาะมาเรียนากับหมู่เกาะฮาวายยอดของภูเขากีโอต์อยู่ที่ระดับน้ำลึก 1,200 - 1,800 เมตรเดิมอาจเป็นยอดภูเขาไฟแล้วคลื่นทำให้สึกกร่อนไปหรืออาจมีปะการังมาเกาะเหนือยอดเขาทำให้ยอดตัด ต่อมาพื้นท้องมหาสมุทรลดระดับต่ำลงหรือน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นเลยจมหายไปใต้น้ำ
[แก้] ร่องลึกบาดาลและเหวทะเล
ร่องลึกบาดาลและเหวทะเล ร่องลึกบาดาลเป็นแอ่งลึกรูปยาวและขอบสูงชันอยู่ที่พื้นท้องมหาสมุทร ร่องลึกบาดาลอยู่ค่อนมาทางลาดทวีปหรือใกล้เกาะ เช่น ร่องลึกบาดาลอาลิวเซียนร่องลึกบาดาลมินดาเนา ร่องลึกบาดาลมาเรียนา ร่องลึกบาดาลชวา ส่วนเหวทะเลหมายถึงแอ่งลุ่มที่มีความลึกเกินกว่า 600 เมตร กำเนิดของร่องลึกบาดาลนี้ไม่เป็นที่ทราบกันแน่นอน คาดกันว่าเกิดจากการคดโค้งของพื้นท้องมหาสมุทร และร่องลึกบาดาลเป็นส่วนที่ต่ำ แต่มีร่องลึกบาดาลบางแห่งมีลักษณะคล้ายหุบเขาทรุด แนวที่มีร่องลึกบาดาลนั้นเป็นแนวที่เปลือกโลกยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ เพราะแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายครั้งที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ใต้ร่องลึกบาดาลเหล่านั้นลงไป
[แก้] อุณหภูมิ
อุณหภูมิของน้ำทะเล อุณหภูมิของน้ำทะเลนั้นขึ้นอยู่กับการแผ่รังสีดวงอาทิตย์มากกว่าความร้อนจากแก่นโลกหรือกัมมันตภาพรังสีจากพื้นท้องมหาสมุทร อุณหภูมิของน้ำทะเลจะต่างกันทั้งทางแนวราบ คือจากเส้นศูนย์สูตรไปทางขั้วโลก และทางแนวดิ่ง คือจากระดับน้ำทะเลลงไปถึงพื้นท้องมหาสมุทรทางแนวราบนั้นที่เส้นศูนย์สูตรอุณหภูมิเฉลี่ยที่ระดับน้ำทะเลประมาณ 26 องศาเซลเซียส ( 80 องศาฟาเรนไฮน์) ที่ขั้วโลกประมาณ -2 องศาเซลเซียส (28องศาฟาเรนไฮน์) ทางแนวดิ่งที่แถบอากาศร้อนอุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดร็วจากระดับน้ำทะเลถึงระดับลึกประมาณ 1,080 เมตร อุณหภูมิที่ระดับนี้ประมาณ 4 องศาเซลเซียส จากระดับลึก 1,080 – 1,800 เมตร อุณหภูมิลดลง พ้นระดับนี้ลงไปถึงพื้นท้องมหาสมุทรอุณหภูมิเกือบไม่เปลี่ยนแปลง ประมาณ 2 องศาเซลเซียส ที่ขั้วโลกอุณหภูมิที่พื้นท้องมหาสมุทรประมาณ 2 องศาเซลเซียส
มหาสมุทร เป็นบทความเกี่ยวกับ แม่น้ำ ภูเขา หรือสถานที่ทางภูมิศาสตร์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |