สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 1
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 1 แห่งอังกฤษ (Elizabeth I of England -- 7 กันยายน พ.ศ. 2076 -- 24 มีนาคม พ.ศ. 2146) เสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2101 และทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส และสมเด็จพระราชินีแห่งไอร์แลนด์ ตั้งแต่ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2101 จนถึงวันสวรรคต บางกรณีได้รับการกล่าวถึงในพระนาม “ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์” (เนื่องจากการไม่อภิเษกสมรสเลยตลอดพระชนม์ชีพ) และนับเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ทิวดอร์
ประสูติที่พระราชวังกรีนิช เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี ที่ 8 กับพระนางแอนน์ โบลีนมเหสีองค์ที่ 2 ซึ่งถูกประหารชีวิตโดยการบั่นพระเศียร และเมื่อพระบิดาอภิเษกสมรสครั้งที่ 3 กับเจน ซีมัวร์ ใน พ.ศ. 2079 พระองค์และพระพี่นางต่างพระมารดาถูกประกาศว่าเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยรัฐสภาเนื่องจากการเอนเอียงมาทางพระโอรสของพระนางเจน ซีมัวร์ (ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ที่ 6)
สารบัญ |
[แก้] สมัยยังทรงพระเยาว์
ชีวิตในวัยเด็กของพระองค์ยากลำบากมากและล่อแหลมเต็มไปด้วยอันตราย ต้องทนทุกข์ระทมจากการถูกประหารชีวิตของพระมารดา และการไม่ชอบของพระบิดา แต่พระองค์ก็ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดียิ่ง และได้รับการเลี้ยงดูท่ามกลางศรัทธาในนิกายโปรแตสแตนท์ ในระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ที่ 6 (พ.ศ. 2090-2096) เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 16 พรรษา ลอร์ดทอมัส ซีมัวร์ ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเรือได้วางแผนพยายามขออภิเษกสมรสด้วยเพื่อใช้พระองค์เป็นเครื่องมือหาทางล้มล้างรัฐบาล แต่ทรงหลบเลี่ยงได้อย่างนุ่มนวลและลอร์ดซีมัวร์ก็ได้ถูกประหารชีวิตในความผิดฐานกบฏ ระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี่ที่ 1 (พ.ศ. 2096-2101) การแสดงตนเป็นโปรแตสแตนท์ของพระองค์ทำให้สมเด็จพระราชินีแมรีพี่สาว ซึ่งเป็นแคทอลิก รู้สึกหวั่นไหว พระนางเอลิซาเบทจึงถูกจองจำไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอน
[แก้] การเสด็จขึ้นครองราชย์และการเริ่มมีความขัดแย้งทางศาสนา
การขึ้นเสวยราชย์ของพระองค์เมื่อ พ.ศ. 2101 อันเนื่องมาจากการสวรรคตของพระราชินีแมรี่ที่ 1 ได้รับการแซ่ซ้องและยอมรับเป็นอย่างมากจากผู้คนที่หวังจะได้มีเสรีภาพทางศาสนามากขึ้นหลังจากที่ได้ถูกกดขี่มาโดยตลอดในรัชกาลก่อนๆ ภายใต้การนำอย่างแข็งขันของเซอร์วิลเลียม เซซิล ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ (ต่อมาเลื่อนเป็นลอร์ดเบอร์กเลย์) กฎหมายสนับสนุนคาทอลิกของพระนางแมรีที่ 1 ได้ถูกยกเลิกและนิกายโบสถ์อังกฤษ (Church of England) ก็ได้รับการสถาปนาขึ้น (ระหว่าง พ.ศ. 2102-2106) นอกจากนี้ เซอร์เซซิลยังได้ให้การสนับสนุนการปฏิรูปสกอตแลนด์ ซึ่งทำให้พระราชินีแมรีแห่งสกอตแลนด์กลับคืนบัลลังก์ได้อีกในปี พ.ศ. 2104 ยังผลให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นกับพวกลัทธิแคลวิน โดยจอห์น นอกซ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิกายโปรแตสแตนท์ ซึ่งได้จับพระนางจองจำและบังคับให้สละราชบัลลังก์ในปี พ.ศ. 2110 ทำให้พระองค์ต้องหลบหนีไปประทับในอังกฤษแต่ก็ถูกจับกักบริเวณอีก ซึ่งต่อมาเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นจุดสนใจและเป็นศูนย์รวมชาวคาทอลิกที่รวมตัวกันต่อต้านนิกายโปรแตสแตนท์ ในปี พ.ศ. 2113 ได้มีการประกาศให้พวกคาทอลิกเลิกนับถือพระราชินีเอลิซาเบทเป็นราชินี ซึ่งรัฐบาลเริ่มแก้เผ็ดชาวคาทอลิกอังกฤษด้วยการจำกัดสิทธิ์บางอย่างและค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นถึงขั้นปราบปรามในช่วงปี พ.ศ. 2123-2133
แผนการล้มล้างสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 1 ถูกเปิดเผยบ่อยครั้งขึ้น และอีกครั้งหนึ่งโดยการสนับสนุนลับๆ ของพระนางแมรีใน พ.ศ. 2129 ทำให้พระนางถูกประหารชีวิตในปีต่อมา นโยบายต่อต้านและเข้มงวดกับพวกนับถือศาสนาโรมันคาทอลิกเพิ่มความรุนแรงขึ้น มีผลให้อังกฤษสนับสนุนฝ่ายกบฏชาวฮอลันดาที่ต่อต้านสเปน มีการ “แต่งตั้งโจรสลัด” อย่างเป็นงานเป็นการ ดังเช่นจอห์น ฮอว์ลีน และ ฟรานซิส เดรกเพื่อคอยดักปล้นทรัพย์สินของพวกสเปนในโลกใหม่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ยั่วยุให้สเปนก่อสงครามรุกรานอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2101 กองเรืออาร์มาดาอันยิ่งใหญ่ของสเปนได้บุกเข้ามาปิดช่องแคบอังกฤษ แต่ก็ถูกทำลายจากทั้งพายุและการตีโต้กลับจากฝ่ายอังกฤษจนสูญเสียเรือเป็นจำนวนมากพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำจนต้องถอยกลับสเปน
ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 1 พระองค์ได้เพิ่มพันธมิตรและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่นิกายโปรแตสแตนท์มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็แบ่งแยกศัตรูฝ่ายคาทอลิกรุนแรงมากขึ้นด้วย พระนางแสร้งยอมให้เชื้อพระวงศ์ต่างประเทศหลายรายเจรจาขออภิเษกสมรสกับพระองค์ แต่ก็พระองค์ก็ไม่จริงจังและไม่ได้ทรงกำหนดให้มีการสืบรัชทายาทไว้แต่อย่างใด และด้วยการสิ้นพระชนม์ของพระราชินีแมรีแห่งสกอตแลนด์ ทำให้พระนางได้ทรงทราบด้วยความพอพระทัยว่าองค์รัชทายาท คือพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เป็นโปรแตสแตนท์ พระองค์ได้มีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับขุนนางสำคัญคือ โรเบิร์ต ดัดเลย์ เอิร์ลแห่งลีเซสเตอร์ และต่อมากับโรเบิร์ต เดอเวรัวซ์ เอิร์ลแห่งเอสเซกซ์ จนกระทั่งท่านเอิร์ลถูกประหารชีวิตด้วยข้อหากบฏในปี พ.ศ. 2144
ยุคสมัยของพระนางเอลิซาเบท ได้รับการเรียกว่ายุคอลิซาเบธัน หรือยุคทอง เนื่องจากเป็นยุคที่อังกฤษขยายแสนยานุภาพไปทั่วโลก ในยุคสมัยนี้ ได้มีชาวอังกฤษผู้โด่งดังในสาขาวิชาต่างๆ มากมาย ตัวอย่างเช่น กวีชื่อก้องโลก เช่น วิลเลียม เชกสเปียร์ คริสโตเฟอร์ มาโลว์ และ จอห์น เบ็นสัน ก็ได้มีเริ่มมีชื่อเสียงในยุคนี้ ฟรานซิส เดร็ก ได้เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่เป็นนักเดินเรือสำรวจรอบโลก ฟรานซิส เบคอน ได้เสนอความคิดทางปรัญชาและทางการเมือง เซอร์ วอลเตอร์ ราลเลจห์ และ เซอร์ ฮัมเฟรย์ กิลเบิร์ต ได้สร้างอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ
[แก้] การแผ่อำนาจในระดับนานาชาติ
นโยบายด้านการงบประมาณของพระองค์สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างแก่ประชาชน มีการขึ้นอัตราภาษีเพื่อระดมเงินให้เพียงพอกับการทำสงครามในต่างประเทศ การเกิดความอดอยากข้าวยากหมากแพงในช่วงประมาณ พ.ศ. 2135-40 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและเกิดความไม่สงบในสังคม รัฐบาลจึงพยายามแก้ด้วยการออก “กฎหมายคนจน” (Poor Law) เมื่อ พ.ศ. 2140 โดยเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากท้องถิ่นไปอุดหนุนคนยากไร้ การอวดอำนาจทางทะเลของอังกฤษก่อให้เกิดการเดินทางท่องทะเลเพื่อค้นหาอาณานิคมใหม่ เซอร์ฟรานซิส เดรกเดินทางโดยเรือรอบโลกสำเร็จเป็นครั้งแรก เซอร์วอลเตอร์ ราเลย์เดินทางสำรวจพบชายฝั่งอเมริกาเหนือและเดินทางไปมาอีกหลายครั้งระหว่าง พ.ศ. 2125-32 แต่อาณานิคมที่แท้จริงเพียงแห่งเดียวของอังกฤษในสมัยของพระองค์คือ “ไอร์แลนด์” ซึ่งเป็นที่ซึ่งชาวอังกฤษเข้าไปหาผลประโยชน์ด้วยการเอารัดเอาเปรียบคนพื้นถิ่นชาวไอร์แลนด์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเหตุให้การก่อกบฏที่รุนแรงภายใต้การนำของฮิวจ์ โอนีล เอิร์ลแห่งไทโรนเมื่อ พ.ศ. 2140
ราชินีเอลิซาเบททรงมีพระอารมณ์ร้อน และบางครั้งทรงเป็นผู้นำที่ไม่เด็ดขาด บ่อยครั้งที่ที่เหล่าที่ปรึกษาส่วนพระองค์ต้องช่วยพระองค์จากศัตรูทางการเมืองและเหล่าข้าศึก อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงมีความสุนทรีย์ทางบทกวีเป็นอย่างมาก ดังเช่น พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 พระบิดาของพระองค์ พระองค์ทรงเขียนวรรณกรรมไว้หลายเรื่อง และพระองค์ยังทรงตั้ง Royal Charters คือ หน่วยงานหลวงมาดูแลกิจการของอังกฤษหลายแห่ง วิทยาลัยทรินิตี้ ณ กรุงดับบลิน (Trinity College, Dublin) ในปี พ.ศ. 2135(ค.ศ. 1592) และ บริษัทบริติชอินเดียตะวันออก (British East India Company) ในปี พ.ศ. 2143(ค.ศ. 1600)
เวอร์จิเนีย หนึ่งในอาณานิคมอเมริกาเหนือของอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันคือรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ถูกตั้งชื่อขึ้นตามสมญานามของราชินีเอลิซาเบทที่ 1 ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์
[แก้] สวรรคต
จากการสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบทที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2146 ราชวงศ์ทิวดอร์ก็สิ้นสุดลงไปด้วย การสืบต่อราชบัลลังก์โดย พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งราชวงศ์สจวร์ตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย การครองราชย์ที่ยาวนานของพระองค์ตรงกับช่วงที่อังกฤษเริ่มมีแสนยานุภาพทางทะเลของโลกและช่วงที่เรียกว่าเป็น "ยุคฟื้นฟูศิลปะของอังกฤษ" (English Renaissance) การเป็นตำนาน "พระราชินีพรหมจรรย์" ของพระองค์ที่พระองค์เองก็มีส่วนสนับสนุนให้เรียกพร้อมกับกวีและนักแต่งบทละครในราชสำนักเพื่อให้คนทั่วไปที่รู้จักไปในทางนั้น กลายเป็นสิ่งบดบังบทบาทของพระองค์ในฐานะเป็นผู้สร้างสำนึกแห่งความเป็นชาติของอังกฤษไปสิ้น
สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 1 ทรงครองราชย์ตรงกับรัชสมัยระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา